Bitcoin Futures คือ โปรดักต์ที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนโดยใช้เงินทุนไม่มากนักและยังสามารถเก็งกำไรใน Bitcoin รวมถึง Cryptocurrency อื่นๆได้ทั้งทิศทางขาขึ้นและขาลง
บทความนี้จะช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจในการเทรด Bitcoin Futures ในเบื้องต้น ตั้งแต่การเปิดสัญญารูปแบบต่างๆ การเลือกใช้ Leverage และการป้องกันความเสี่ยงจากการถูก Liquidate
ตราสารอนุพันธ์ประเภท Futures คืออะไร??
ตราสารอนุพันธ์หรือ Derivatives คือโปรดักต์การเงินประเภทหนึ่งที่ไม่ได้เป็นกาส่งมอบสินค้านั้นๆระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจริงๆ ตัวอย่างเช่นการซื้อขายหุ้นก็จะมีการส่งมอบความเป็นเจ้าของหุ้นให้ระหว่างคนสองฝ่าย แต่ตราสารอนุพันธ์จะเป็นเพียงแค่การส่งมอบสัญญาซื้อขายที่ราคาเปลี่ยนแปลงตามสินค้าอ้างอิงเท่านั้น
Futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถือเป็นตราสารอนุพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการเทรดมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่นการซื้อ Bitcoin ในตลาด Spot เวลาที่เราส่งคำสั่งซื้อก็จะได้รับ Bitcoin เข้ามาใน Wallet จริงๆจากนั้นก็จะทำการโอนหรือเก็บเข้า Hardware Wallet หรือนำไปขายต่อทันทีก็ได้

แต่ถ้าเป็นการเปิดสถานะ Bitcoin Futures จะไม่ได้เป็นการถือ Bitcoin จริงๆ แต่เป็นเพียงการถือ “สัญญา” ที่ราคาอ้างอิงกับ Bitcoin ในตลาดเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเก็บเข้าใน Wallet หรือถือครองได้นานๆเหมือนกับตลาด Spot
กล่าวคือหากราคา Bitcoin ปรับตัวขึ้นสัญญา Bitcoin Futures ก็จะปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจะปรับตัวขึ้นมากกว่าหรือน้อยกว่าราคาตลาด Spot จะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดและความเชื่อมั่นของนักเทรดในเวลานั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรราคา Spot กับ Futures ก็จะไปในทิศทางเดียวกันเสมอ
Futures สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง
ความพิเศษของตราสารอนุพันธ์ก็คือการที่สามารถซื้อขายและทำกำไรทั้งทั้งตลาดขาขึ้นรวมถึงตลาดขาลงจึงสามารถทำกำไรได้แม้ตลาดในภาพรวมจะเป็นขาลงด้วยการขายล่วงหน้า (Short) โดยสามารถซื้อขายได้ทั้งการเก็งกำไรรวมถึงการบริหารความเสี่ยง (Hedging) เช่น ซื้อ Bitcoin เอาไว้แต่ยังไม่ต้องการจะขายออกไปก็อาจจะเปิดสถานะ Short เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตขาดทุน
อีกหนึ่งความพิเศษของตราสารอนุพันธ์คือสามารถใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่ทำกำไรได้ในอัตราที่สูงหรือที่เรียกว่า Leverage เช่นใช้เงิน 10 บาทแต่สามารถซื้อขายได้เท่ากับมีวงเงิน 100 บาท เรียกว่า Leverage 1:10 แต่นอกจากการทำกำไรได้ในระดับสูงแล้วหากขาดทุนก็จะเสียหายอย่างหนักเช่นกัน
รูปแบบของ Crypto Futures ที่ซื้อขายใน Exchange ต่างๆ
ทั่วไปแล้ว Futures ที่ซื้อขายในตลาดการลงทุนปกติจะใช้เป็นรูปแบบของการวางเงินค้ำประกัน (Margin) เพื่อที่จะซื้อสัญญา Futures ตามมูลค่าที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ เช่น สัญญา Gold Futures ต้องวางเงิน Margin 10,000 บาทต่อ 1 สัญญา ถ้าเราต้องการจะลงทุนสองสัญญาก็ต้องใช้เงิน 20,000 บาท
แต่สำหรับ Crypto Futures จะมีความแตกต่างออกไปเพราะ Exchange จะเปิดให้นักเทรดสามารถกำหนดวงเงิน Margin เพื่อเปิดสถานะของสัญญาได้ตามที่ต้องการ เช่น ต้องการเปิดสถานะ Futures ใน Bitcoin ด้วยวงเงิน 100USDT เราเพียงกรอกวงเงินดังกล่าวและส่งคำสั่งซื้อขายได้เลย
นอกจาก Bitcoin แล้ว แต่ละ Exchange ก็จะเปิดให้สามารถเทรด Altcoin ต่างๆในรูปแบบของ Futures ด้วยเช่นกัน โดยจะพิจารณาจากมูลค่าตลาดและสภาพคล่องในการซื้อขายของเหรียญนั้นๆว่ามีมากพอที่จะเปิดเทรดแบบ Futures ได้หรือไม่

Exchange ไหนบ้างที่มีโปรดักต์ประเภท Futures
ปัจจุบัน Exchange ที่ให้บริการแบบ Spot ต่างมีโปรดักต์ Futures ให้ลูกค้าได้เทรดเกือบทั้งหมด โดยผู้เล่นที่ครองอันดับหนึ่งในตลาดประเภท Futures ยังคงเป็น Binance ตามมาด้วย Exchange ที่เลือกจับกลุ่มนักเทรด Futures โดยเฉพาะอย่างเช่น Bybit,FTX รวมถึง OKEx

นักเทรดควรที่จะเลือกเปิดบัญชีซื้อขายกับ Exchange ที่มีสภาพคล่องซื้อขายสูงๆเอาไว้ก่อน เพราะสิ่งสำคัญของการเทรด Futures ก็คือการจับคู่ราคาที่ต้องมีความคล่องตัวสูงและมี Spread ราคาที่แคบไม่ห่างมาก เนื่องจากเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นเป็นหลัก หากส่วนต่างราคาห่างเกินไปจะเก็งกำไรได้ลำบาก
เปิดพอร์ตเทรด Bitcoin Futures กับ Binance ได้ที่ลิงค์นี้ หรือจะเปิดพอร์ตเทรดกับ Bybit ได้ที่ลิงค์นี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : รีวิว FTX แพลตฟอร์มเทรด CRYPTOCURRENCY ที่มีโปรดักต์เพื่อนักเทรดโดยเฉพาะ
โปรดักต์ประเภทต่างๆ
แม้แต่ละ Exchange จะมีชื่อเรียกโปรดักต์ของตัวเองที่แตกต่างกัน แต่โปรดักต์มักจะมีความคล้ายครึงกันอยู่พอสมควรโดยจะมีรูปแบบของโปรดักต์ดังนี้
Perpetual Contract คือรูปแบบของสัญญา Futures ที่ไม่มีวันหมดอายุ นักเทรดสามารถถือสัญญาดังกล่าวนั้นไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะปิดสถานะไปเองหรือถูกบังคับปิด (คำว่า Perpetual แปลว่าตลอดไป) แต่สัญญารูปแบบนี้จะมีเรื่องของค่าธรรมเนียมหรือ Funding Rate มาเกี่ยวข้องด้วย (จะพูดถึงในส่วนต่อไป)

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเปิดสัญญาอยู่สองแบบก็คือ
USDT M คือการเปิดสัญญาโดยใช้ Stablecoins อย่าง USDT ในการวาง Margin เพื่อเปิดสถานะ โดยผู้ที่เลือกแบบนี้จะต้องมี USDT (หรืออาจจะเป็น Stablecoins อื่นๆ) ใน Wallet
Coin M คือการเปิดสัญญาโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลนั้นๆมาวาง Margin โดยตรง เช่น ต้องการจะเปิด Bitcoin Futures ก็ต้องนำ Bitcoin จริงมาใส่ไว้ใน Wallet เพื่อใช้ในการเปิดสถานะ
Contract Futures คือรูปแบบของสัญญา Futures ที่มีการกำหนดวันหมดอายุของสัญญาที่ชัดเจน เช่น หมดอายุเป็นรายเดือ รายไตรมาส ฯลฯ ข้อดีของสัญญาประเภทที่มีการกำหนดวันหมดอายุก็คือนักเทรดจะไม่เสียค่า Funding Rate แต่ข้อเสียคือหากอายุสัญญาหมดลงแล้วยังมีผลขาดทุนอยู่ก็จะไม่มีโอกาสได้แก้มืออีกต่อไป

การเลือก Leverage
คำว่า Leverage หรือว่าอัตราทด เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถเปิดสถานะซื้อขายในสินค้าอ้างอิงนั้นๆได้โดยไม่จำเป็นต้องวางเงินเต็มจำนวน โดยใน Exchange จะแสดงผล Leverage ในรูปแบบตัวคูณหรือ X ตามการเพิ่มอัตราทดที่เราได้เลือก
ตัวอย่างเช่น เปิดสถานะ Bitcoin Futures ที่ระดับ Leverge 10X ถ้าหากราคา Spot ของ Bitcoin ในเวลานั้นอยู่ที่ 60,000 ดอลลาร์ต่อ 1 BTC หากใช้ 10X ก็คือใช้เงินเพียง 6,000 ดอลลาร์ แต่สามารถรับรู้ผลกำไรขาดทุนได้ในระดับเดียวกับการถือมูลค่าของ Bitcoin เต็มจำนวนที่ 1 BTC

แม้ว่าเราจะสามารถเลือก Leverage ได้ถึงระดับ 100X ทำให้สามารถใช้เงินจำนวนไม่มากแต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง แต่การใช้ Leverage จำนวนมากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเทรดของเราให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะถ้าเราเลือกทิศทางผิดก็จะเป็นการทำให้ผลขาดทุนของเราเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างการเลือกรูปแบบสัญญา Isolate และ Cross
ทุก Exchange ที่มีโปรดักต์ Futures จะมีรูปแบบการเปิดสถานะของสัญญาที่เหมือนกันโดยแบ่งเป็น Isolate และ Cross ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
Isolate คือการวางเงิน Margin แต่ละสัญญาในการเทรดโดยวงเงินดังกล่าวจะถูกแยกออกจากพอร์ตรวม ตัวอย่างเช่นเลือก Bitcoin Futures ด้วยวงเงิน 100USDT จากยอดรวมในพอร์ต 1,000USDT มูลค่าสัญญา Futures จำนวน 100USDT ก็จะดึงออกจากพอร์ตรวมที่จะเหลือ 900USDT
ถ้าหากสัญญา Bitcoin Futures ดังกล่าวถูกล้างสถานะหรือ Liquidate ไป มูลค่าพอร์ตรวมของเราจะเหลือ 900USDT สรุปสั้นๆก็คือเล่นเท่าไรก็เสียเท่านั้น

Cross คือการวางเงิน Margin แต่ละสัญญาโดยวงเงินดังกล่าวยังคงถูกรวมอยู่กับพอร์ตรวม เวลาที่สัญญาที่เราเปิดมีผลขาดทุน พอร์ตรวมของเราก็จะขาดทุนไปด้วยเช่นกัน
เช่นมีการเปิดสัญญา Bitcoin Futures มูลค่า 100USDT โดยมีพอร์ตรวม 1,000USD ปรากฎผลขาดทุน 50USDT พอร์ตรวมของเราจะมีมูลค่าลดลงไป 100+50 USDT = 150USDT
เรื่องสำคัญคือหากปล่อยให้เกิดผลขาดทุนไปเรื่อยๆ พอร์ตรวมของเรามีโอกาสที่จะขาดทุนไปทั้งหมดได้เลย ต่างจากแบบ Isolate ที่จะจำกัดผลขาดทุน
ถามว่าเราจะเลือกการเปิดสถานะในรูปแบบใดขึ้นอยู่ความเสี่ยงที่เรารับได้และสไตล์การเทรด หากเทรดแบบ Isolate ก็จะจำกัดผลขาดทุนแต่มีความเสี่ยงที่จะถูกล้างสถานะสัญญานั้นหากราคาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเลือกแบบ Cross ก็จะมีพอร์ตรวมที่จะปองกันความเสี่ยงให้กับเราแต่หากขาดทุนมากๆก็จะเสียหายไปทั้งหมดได้
ความเสี่ยงของการจะถูกล้างพอร์ต (Liquidation)
นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการเข้ามาเทรดในตลาด Futures เราจำเป็นต้องรู้จักกับความเสี่ยงว่าพอร์ตลงทุนของเรามีโอกาสที่จะเสียหายทั้งหมดจากการที่เปิดสถานะผิดทาง เช่น เปิดสถานะ Long หรือมองว่าราคาจะปรับตัวขึ้นแต่ราคากลับปรับตัวลง
ระบบการทำงานของ Exchange จะเป็นผู้ปล่อย Margin หรือเงินกู้ให้กับนักเทรดนำไปเปิดสถานะใน Futures แต่ถ้าสถานะที่เปิดไปนั้นมีผลขาดทุน Exchange จะต้องทำการบังคับปิดสถานะนั้นๆเพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนขึ้นกับ Excahnge นั้นๆ

โดยหากเราเปิดสถานะ Futures แบบ Cross เวลาที่จะเกิดการล้างพอร์ตก็คือมีการวาง Margin จนผลขาดทุนทำให้เงินทุนของเราทั้งหมดติดลบ แต่หากเปิดแบบ Isolate การล้างพอร์ตจะเกิดขึ้นหากวงเงิน Margin ของเราติดลบลงประมาณ 70-80% โดยหากเกิดการขาดทุนจนเกือบถึงจุดที่จะ Liquidate ทาง Exchange จะส่งอีเมลแจ้งเตือนมาให้กับเรา
วิธีการดูว่าพอร์ตของเราใกล้ที่จะถูก Liquidate ให้ดูที่ส่วน Maintenance Margin หรือว่าเงินทุนส่วนที่เหลือในพอร์ตของเรา หากเข้าสู่สถานะเสี่ยงจะเกิดแทบสีเหลือง ส้มไปจนถึงแดง แต่ถ้าสถานะ Margin ของเรายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสถานะก็จะขึ้นเป็นสีเขียว
สิ่งอื่นที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเทรด Bitcoin Futures
ราคาแบบต่างๆในการเทรด Bitcoin Futures เราสามารถที่จะเลือกรูปแบบของราคาอ้างอิงได้สามแบบซึ่งแต่ละแบบมีวิธีการคำนวนที่ต่างกัน
Last Price คือราคาล่าสุดหรือราคา Markets ของ Exchange นั้นๆ ซึ่งราคารูปแบบนี้จะมีความผันผวนสูง อาจจะเกิดการ Spikes ของราคาหรือเกิดไส้เทียนยาวๆซึ่งจะทำให้เกิดการ Liquidates ของสถานะได้
Mark Price คือราคาที่มีการเปรียบเทียบกับราคาใน Excahnge อื่นด้วยซึ่งจะมีความนิ่งกว่ารูปแบบ Last Price เพราะไม่ใช่ทุก Exchange จะเกิดราคา Spikes
Index Price คือราคาที่เทียบกับตลาด Spot ซึ่งมักจะเกิดราคา Discount กว่าราคา Last Price

PNL หรือ Profit And Loss คือการแสดงผลกำไรหรือขาดทุนจากการเทรดในรูปแบบของตัวเงินโดยอ้างอิงกับ US Dollar ส่วน ROE หรือ Return On Equity ซึ่งจะแสดงผลในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ ซึ่ง Exchange ส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ให้สามารถแชร์ผลงานการเทรดของเราได้

Funding Rate คือต้นทุนของการเทรด Futures ซึ่งผู้ที่เปิดสถานะตรงข้ามกับอีกฝ่ายจะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยนี้ตามสถานะการเปิดสัญญา Futures ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น ถ้าเวลานั้นมีผู้เปิดสถานะ Long มากกว่า Short ผู้ที่ถือ Long จะต้องจ่ายค่า Funding Rate ให้คนที่เปิดสถานะ Short ทุกๆ 8 ชั่วโมง ยิ่งสัดส่วนการเปิดสถานะของคู่ตรงข้ามที่ต่างกันมากก็ต้องจ่ายค่า Funding Rate ที่สูงขึ้น โดยแต่ละ Exchange จะเก็บค่าธรรมเนียมนี้ในอัตราที่ต่างกันออกไป
Bitcoin Futures คือ เครื่องมือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสที่จะเสียเงินลงทุนทั้งหมด ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาหาข้อมูลเป็นอย่างดีก่อนจะตัดสินใจลงทุน แต่ถ้าศึกษาจนมีความชำนาญแล้วจะเป็นเครื่องมือที่สามารถทำกำไรได้ในทุกสภาวะตลาด ที่สำคัญต้องมีวินัยการเทรดที่สูงกว่าการเทรดแบบ Spot
บทความที่เกี่ยวข้อง : รีวิว BINANCE เวบเทรดคริปโตอันดับหนึ่งของโลก